วันจันทร์, ตุลาคม 09, 2560

สุณัย ผาสุข :' ประยุทธ์' เยือนสหรัฐฯกับคำสัญญาเลือกตั้ง-ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเพียงลมปาก





ไขปม:' ประยุทธ์' เยือนสหรัฐฯกับคำสัญญาเลือกตั้ง-ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเพียงลมปาก


By พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
4 ตุลาคม 2560 
Voice TV21


นายกฯเดินสายเยือนสหรัฐอเมริกาหลังพบกับโดนัลด์ ทรัมป์ และนักธุรกิจอเมริกัน ประกาศให้ความเชื่อมั่นการเลือกตั้ง และไม่มีละเมิดสิทธิมนุษยชน

หลังจากเมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เข้าพบกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาวได้เจรจาพูดคุยทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ พร้อมลั่นวาจาปีหน้าจะมีการประกาศวันเลือกตั้ง แต่ไม่ทันข้ามวันพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลับไหลลื่นไปว่าจะประกาสปี 2561 ไม่ได้แปลว่าจะมีการจัดเลือกตั้งภายในปี 2561 ส่อแววต้องเลื่อนอีก

ล่าสุดวันนี้ (4 ต.ค.)นายกฯได้เข้าร่วมงานเลี้ยงที่สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาอาเซียนและสภาหอการค้าสหรัฐอเมริกาโดยกล่าวว่ารู้สึกประทับใจ เปรียบเหมือนเป็นการพบเพื่อนใหม่ที่ดี ซึ่งการเข้าทำหน้าที่นี้ของตน เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกเท่านั้น ไม่ได้เข้ามาใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือทำให้ธุรกิจเสียหาย มั่นใจมีคนเดือนร้อนจากการเข้ามาของตนเพียงส่วนน้อย คนที่เดือดร้อนคือคนทีทำผิดกฏหมายเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้องค์กรสิทธิฯระดับโลกได้ประณามการที่โดนัลด์ ทรัมป์ เชิญผู้นำเผด็จการมาเยือนทำเนียบขาว

เมื่อประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนไม่ได้สำคัญเท่าผลประโยชน์

ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีพูดคุยกับ นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์เดินทางเยือนสหรัฐฯ โดยสุณัยกล่าวด้วยความผิดหวังว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ และรัฐบาลอเมริกาได้ละทิ้งการต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน การเปิดทำเนียบขาวต้อนรับผู้นำเผด็จการจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดก็คือ พล.อ.ประยุทธ์จากประเทศไทย

นายสุณัยมองถึงความเสียเปรียบในการเจรจาต่อรองระหว่างไทย-สหรัฐฯในครั้งนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ และผู้แทนรัฐบาลไทยมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อการแสวงหาการยอมรับจากอเมริกา เรื่องนี้เป็นปมด้อยที่สำคัญตั้งแต่หลังรัฐประหาร ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะยอมตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบในการเจรจาด้านต่างๆ ที่ทรัมป์ และอเมริกาหยิบยกขึ้นมาหารือเพื่อแลกกับตั๋วผ่านประตูเข้าไปในทำเนียบขาว

เมื่อถามว่า ศ.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงมองว่าการเยือนครั้งนี้เป็นเพียง "การฟอกขาว"ให้รัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร สุณัยกล่าวว่าการฟื้นฟูประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นสาระสำคัญในการพบปะกันระหว่างทรัมป์ และพล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงวาระอื่นๆ ที่พล.อ.ประยุทธ์ไปอเมริกาครั้งนี้ เนื้อหาที่ปรากฏในแถลงการณ์ร่วมของทั้งสองฝ่ายเป็นแค่เพียงตรายางที่หวังจะทำให้การเยือนอเมริกาของพล.อ.ประยุทธ์ดูมีความชอบธรรมเท่านั้น ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย

สุณัยมองถึงแถลงการณ์และคำสัญญาของพล.อ.ประยุทธ์เกี่ยวกับกำหนดการเลือกตั้ง, โรดแมป, และการกล่าวอ้างว่ารัฐบาลทหารไม่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์พูดแบบนี้มาหลายครั้งกับผู้นำมิตรประเทศตั้งแต่ปีแรกที่ปกครองประเทศ แต่การเลือกตั้งก็ถูกเลื่อนมาโดยตลอด และพฤติกรรมของรัฐบาลทหารที่กระทำในประเทศก็ประจานให้เห็นได้ชัดว่าตรงกันข้ามกับคำกล่าวอ้างของประยุทธ์ ซึ่งรายการสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีของกระทรวงต่างประเทศอเมริกาก็บันทึกเรื่องเหล่านี้ไว้อย่างละเอียด สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์พูดจึงไม่มีราคาไม่มีความน่าเชื่อถือ ยิ่งไปกว่านั้น เงื่อนไขทางการเมืองในไทยที่มีการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทำให้ต่อให้มีการเลือกตั้งขึ้นจริง แต่ก็จะไม่มีความเสรี เป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และโครงสร้างทางการเมืองตามกรอบรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ทำให้ระบอบ คสช. สืบทอดการครอบงำประเทศต่อไปอีกยาวนาน

ท้ายที่สุดสุณัยเชื่อว่าอย่างไรก็ตาม อเมริกายังมีรัฐสภาเป็นกลไกทางการเมืองที่สำคัญตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลไม่ให้ฝ่ายบริหารล้ำเส้น ส.ส. และ ส.ว. อเมริกาคนสำคัญๆ ที่ยังเคารพค่านิยมด้านประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนจะย้ำข้อบังคับตามกฎหมายที่ต้องให้รัฐสภากลั่นกรองทำข้อตกลงขายอาวุธให้กับไทย นอกจากนี้ กฎหมายอเมริกากำหนดว่าการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางทหารเต็มรูปแบบจะยังเกิดขึ้นไม่ได้จนกว่าไทยจะกลับคืนสู่การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ รัฐสภายังสามารถหยิบยกสถานการณ์การลิดรอนสิทธิเสรีภาพในไทยมาอภิปราย และกดดันรัฐบาลอเมริกาไม่ให้รวบรัดจูบปากอุ้มชูรัฐบาลทหาร และระบอบ คสช. ด้วย