วันศุกร์, ตุลาคม 13, 2560

หนี้ครัวเรือนคนไทยเพิ่มเฉียด 3 แสน สูงสุดรอบ 10 ปี เหตุค่าครองชีพพุ่ง-ตกงาน





หนี้ครัวเรือนคนไทยเพิ่มเฉียด 3 แสน
สูงสุดรอบ 10 ปี เหตุค่าครองชีพพุ่ง-ตกงาน

ม.หอการค้าสำรวจ พบคนไทยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉียด 3 แสน สูงสุดรอบ 10 ปี เหตุค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นถูกถอดออกจากงานขาดรายได้ ขณะที่ 72.5% ระบุบัตรคนจนไม่ลดปัญหาความยากจน

เมื่อ 12 ต.ค. 2560 นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2560 สำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,191 ตัวอย่าง วันที่ 26 ก.ย. -10 ต.ค. 2560 ว่า ครั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจซ้ำเดิม 30% พบว่า มีสัดส่วนคนไม่มีหนี้ 8.9% ซึ่งมีสัดส่วนต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ที่เริ่มทำสำรวจ และมีคนเป็นหนี้ 91.1% ยอดหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 299,266 บาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากปีก่อนซึ่งมียอดหนี้ 298,005 บาท เพิ่มขึ้น 20.2% ปีนี้ในแง่ยอดหนี้สูงสุดรอบ 10 ปี แต่การขยายตัวต่ำสุดรอบ 10 ปี แบ่งสัดส่วนยอดหนี้เป็นในระบบ 74.60% และนอกระบบ 26.40%

“สาเหตุที่ยอดหนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะอันดับแรกมีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น รองลงมารายได้ลดลง ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน การผ่อนสินค้ามากเกินไป มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก ขาดรายได้เนื่องจากถูกถอดออกจากงาน ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ และมีหนี้จากการพนันบอลเล็กน้อย”นางเสาวณีย์กล่าว

นางเสาวณีย์ กล่าวอีกว่า ขณะที่วัตถุประสงค์ที่ก่อหนี้ อันดับแรกมี 23.3% ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน, รองลงมา 21.9% ซื้อยานพาหนะ, 11.9% ชำระหนี้เก่า, 10.6% ลงทุนประกอบอาชีพ, 10.6% ซื้อที่อยู่อาศัย และ 8.8% เพื่อการศึกษา จะเห็นว่ายังกู้ยืมเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตามรายได้ที่ไม่พอรายจ่าย แต่มีการนำไปใช้หนี้เก่าด้วยเป็นสัญญาณที่ดีที่หนี้ในอนาคตจะลดลง อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพยังอยู่ระดับต่ำ ปกติควรจะอยู่ระดับ 20-40% สะท้อนเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่

สำหรับการผ่อนชำระเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 15,438 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 3.69% จากปีก่อน แบ่งเป็นการชำระหนี้ในระบบ 14,032 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 24.41% ชำระหนี้นอกระบบ 5,512 บาทต่อเดือน ลดลง 46.33% ซึ่งนับว่าลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี ผลจากมาตรการภาครัฐที่แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การขูดรีดนอกระบบลดลง และครัวเรือนมีการปรับตัว ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ในรอบปี 2560 พบว่า 20.7% ไม่เคยมีปัญหา อีก 79.3% เคยมีปัญหา เนื่องจากราคาสินค้ามีราคาแพง เศรษฐกิจไม่ดี สถานการณ์อุทกภัยต่างๆ รายได้ลดลงและค่าครองชีพสูงขึ้น

กลุ่มตัวอย่าง 70.7% ระบุว่าภายใน 1 ปีนับจากปัจจุบันไม่มีความต้องการกู้เพิ่ม อีก 29.3% มีความต้องการกู้เพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการกู้ในระบบ เพื่อนำไปใช้จ่ายทั่วไป ชำระหนี้เก่า ซื้อทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ บ้าน เพื่อลงทุนประกอบธุรกิจ/อาชีพ และจ่ายบัตรเครดิต เป็นต้น นอกจากนี้ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีหลังจากนี้ โอกาสที่จะประสบปัญหาการชำระหนี้ พบว่า 4.5% ไม่มีเลย, 43% น้อย, 36.8% ปานกลาง และ 15.8% มาก สอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่มองใน 1 ปีข้างหน้า ที่เศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจของครัวเรือนน่าเป็นห่วงในระดับที่น้อย เป็นสัญญาณที่ดีที่จะก่อหนี้น้อยลง สามารถชำระหนี้ได้ดีขึ้น ตามเศรษฐกิจที่จะดีขึ้นด้วย

กลุ่มตัวอย่างมีข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลควรเข้ามาทำการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน เช่น ลดค่าครองชีพ ดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน อย่างค่ารักษาพยาบาลให้ครอบคลุม ช่วยลดอัตราเงินกู้ มีการส่งเสริมรายได้และอาชีพ ดำเนินการและจัดการเรื่องการลงทะเบียนคนจน จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ ลดข้อจำกัดเข้าถึงแหล่งทุน ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการจ้างงานและสร้างรายได้

นางเสาวณีย์ กล่าวถึงผลสำรวจทัศนะและพฤติกรรมการใช้จ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีกลุ่มตัวอย่าง 87.2% ไม่ได้รับสิทธิ อีก 12.8% ได้รับสิทธิ ซึ่งแบ่งเป็น 55% มีเงินในบัตร 300 บาท และ 45% มีเงิน 200 บาท กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่าบัตรดังกล่าวยังลดค่าใช้จ่ายได้น้อย และส่วนใหญ่ 72.5% ระบุว่าเรื่องบัตรนี้ไม่ส่งผลต่อการลดปัญหาความยากจน

นอกจากนี้ กว่า 50% ระบุว่าไม่ส่งผลต่อบรรยากาศเศรษฐกิจโดยรวม และบรรยากาศเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่มีถึง 29.5% ระบุคุณภาพชีวิตดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาการใช้บัตร ได้แก่ ร้านค้าที่เข้าร่วมมีสินค้าไม่ครอบคลุม ร้านค้ามีน้อย ร้านค้ายังไม่มีความชำนาญในการแก้ไขปัญหาเฉพาะ ระบบการรูดบัตรยังไม่มีเสถียรภาพ และร้านค้าที่เข้าร่วมอยู่ไกลจากบ้านมาก

PEACE NEWS


Peace News