วันเสาร์, สิงหาคม 12, 2560

“ปฏิรูปสายรถเมล์” สู่ความศิวิไลซ์..ไทยแลนด์!! แบบเก่ายังหลง..แบบใหม่ทำ งง อีกแล้ว!!




คนกรุงฯ ดรามากระจาย! หลังเปิดโผ “ปฏิรูป 269 เส้นทางรถเมล์ใหม่” เตรียมเปลี่ยนเลขรถ-เส้นทางใหม่ แถมใช้อักษรภาษาอังกฤษ โลกโซเชียลฯ จวกถล่ม “รูปแบบใหม่ทำสับสน” ล่าสุด เตรียมนำร่อง 8 เส้นทาง! สังคมวิจารณ์ขรม “แค่ระบบเดิมก็หลงทางจะแย่แล้ว!!”


“ปฏิรูปสายรถเมล์” แบบเก่ายังหลง..แบบใหม่ทำ งง อีกแล้ว!!


ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
8 สิงหาคม 2560

“ 269 เส้นทาง” สู่ความศิวิไลซ์..ไทยแลนด์!!

“สาย 114 เปลี่ยนเป็นG21, สาย 516เปลี่ยนเป็นB25และ สาย 515 เปลี่ยนเป็นY62” เปิดโผใหม่สายรถเมล์ไทยทำเอาชาวกรุง งง! คนเฒ่า-คนแก่สับสนแน่ ไม่อยากคิดถ้าดำเนินการได้จริง..จะปวดหัวขนาดไหน!!

“รวบรวมข้อมูลเส้นทางรถเมล์ที่ใช้เลขสายใหม่ ในเบื้องต้น เขตการเดินรถที่ 7 และ 8 มีเลขสายรถเมล์แบบใหม่แล้ว หากมีข้อมูลเขตการเดินรถอื่นๆ จึงจะนำเสนอต่อไป ก็ขอให้ทุกท่านศึกษาข้อมูลเลขสายเก่า กับเลขสายใหม่ เปรียบเทียบไปพร้อมๆ กันนะครับ”

งงเด้! ไปทั่วโลกออนไลน์ หลังเฟซบุ๊กแฟนเพจ “รถเมล์ไทย.คอม Rotmaethai.com” ได้มีการเผยแพร่โผเลขสายรถเมล์ใหม่ ซึ่งได้นำข้อมูลองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ โดยมีการโพสต์ภาพและข้อมูลสายรถเมล์ใหม่ที่ถูกปฏิรูปทั้งหมด 269 เส้นทาง เตรียมใช้งานจริงในอนาคต!





โดยโผเลขสายรถเมล์ใหม่ที่ว่านี้ ได้มีการอธิบายรายละเอียดไว้ว่าจะมีการแบ่งโซน 4 โซนตามสี 4 สี ยกตัวอย่างเช่น ตัวย่อ G (Green=สีเขียว) เขตการเดินรถที่ 1-2 : ย่านบางเขน-รังสิต-มีนบุรี, R(Red=สีแดง) เขตการเดินรถที่ 3-4 : ย่านปากน้ำ-คลองเตย-สาธุประดิษฐ์, Y(Yellow=สีเหลือง) เขตการเดินรถที่ 5-6 : ย่านพระประแดง-พระราม 2-บางแค-ศาลายา, B(Blue=สีน้ำเงิน) เขตการเดินรถที่ 7-8 : ย่านนนทบุรี-ปากเกร็ด-หมอชิต2-ดินแดง-สวนสยาม

ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ได้มีการเปลี่ยนหมายเลขรถ และเพิ่มตัวอักษรแสดงโซนของรถด้วย เช่น สาย B9 (สาย53) วงกลมสนามหลวง-เทเวศร์ ซึ่ง B คือโซนสีน้ำเงิน 9 คือลำดับที่ 9 ของโซนนี้ ส่วนสายที่ต่อท้ายด้วย E จะหมายถึงรถที่ขึ้นทางด่วน เช่น สาย B 53E ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-หมอชิต2 (ทางด่วน) นั่นเอง

ส่วนทางด้านอธิบดีกรมขนส่งทางบก ได้ออกมาให้เหตุผลในประเด็นการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ใหม่นี้ด้วยเช่นกันว่า มีความต้องการให้รถเมล์รองรับการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ อย่าง รถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดิน อีกทั้งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในอนาคต

สำหรับข้อสงสัยของประชาชนในเรื่องที่ว่ามีการใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ทำให้ยากต่อการจดจำหรือไม่นั้น ด้านอธิบดีกรมขนส่งทางบก ยังบอกอีกว่าจะมีการติดชื่อคู่กันทั้งของเดิมและของใหม่เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ประชาชนเกิดความเคยชิน ซึ่งคาดว่าไม่น่ามีปัญหาในเรื่องดังกล่าว





โซเชียลฯ ดีเบท “สร้างความสะดวก-สร้างความวุ่นวาย!!”

“เอาจริงๆ สายรถเมล์ไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ ที่ต้องการจริงๆ คือแผนที่ (Route Map) บอกต้นทาง-ปลายทาง อย่างของต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ เขาอธิบายไว้ดีมากต่างกับของบ้านเรา”

นี่คือความเห็นจากโลกออนไลน์ที่วิจารณ์ขมถึงกรณีการปฏิรูปสายรถเมล์ครั้งใหม่ ซึ่งได้มีการหยิบยกระบบขนส่งมวลชนของต่างประเทศเอาไว้ให้เห็นภาพอีกด้วยว่า มีการบริการที่ดีและรอบคอบกว่า ไม่ว่าจะเป็นสภาพรถประจำทาง การให้บริการ และด้านความปลอดภัย

ถ้าหากลองศึกษารูปแบบการดำเนินการของต่างประเทศดูแล้ว เราจะเห็นว่าในประเทศญี่ปุ่น ได้มีการแก้ปัญหาการทับซ้อนเส้นทางเดินรถ ด้วยการจัดจุดต่อรถเปลี่ยนไปโดยสารรถไฟฟ้า เพื่อมุ่งตรงไปยังปลายทางหลักเพียงแห่งเดียว

หรือในกรณีของประเทศไต้หวันที่รถเมล์จะมีป้ายไฟกระพริบเพื่อแสดงจุดต่อไปที่รถจะไปถึงให้ผู้โดยสารทราบ รวมถึงมีแผนผังเส้นทางเดินรถที่เข้าใจง่ายไว้บริเวณป้ายรถเมล์

เป็นไปได้ว่ารูปแบบระบบขนส่งสาธารณะของต่างประเทศที่ว่ามาข้างต้น อาจเป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการรถเมล์สาธารณะในไทยต้องการมากที่สุด ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไปว่าการปฏิรูปสายรถเมล์ใหม่ในครั้งนี้จะช่วยสร้างความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการได้จริงๆ จังๆ หรือไม่





ขณะที่อีกฝั่งความคิดเห็นได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในมุมต่างไว้เช่นกันว่า เห็นด้วยที่ใช้ตัวอักษรประกอบในการแบ่งหมวดหมู่การเดินรถ ทั้งยังพูดถึงเรื่องดรามาตัวอักษรภาษาอังกฤษที่โลกออนไลน์ที่วิจารณ์เดือดอีกด้วยว่า หากไม่สามารถเข้าใจอักษรภาษาอังกฤษได้ ก็ให้จดจำในลักษณะของสีแทน

“เข้าใจว่าที่ใช้ตัวอักษรในการประกอบ ก็เพื่อแบ่งหมวดหมู่ของการเดินรถ อยากให้ทาง ขสมก.ออกมาชี้แจงแนวคิดการออกแบบเลขรถใหม่นี้ทั้งระบบ และในระยะเบื้องต้นที่เริ่มใช้ตัวเลขใหม่ อาจจะมีป้ายบอกตัวเลขเก่าไว้ด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการปรับตัวได้ง่ายขึ้น”

“ผมโอเคกับการเปลี่ยนนะ แต่จะห่วงแค่คนเฒ่า-คนแก่ หรือคนที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษเลย แต่อันใหม่จะจัดเขตการเดินรถใหม่ แทนด้วยสีในภาษาอังกฤษ เท่ากับว่า ถ้าไม่รู้ภาษาอังกฤษ ก็จำสีได้หนิครับ พอแทนโซนด้วยตัวย่อภาษาอังกฤษ ก็จะรันสายใหม่เรียงไป ผมว่ามันมีประโยชน์นะครับ ถึงจะขึ้นผิดสาย แต่อย่างน้อยก็ไปอู่เดียวกัน หรือที่หมายใกล้ๆ กัน”

“รถเมล์ไทย” ปฏิรูปทั้งที..ต้องดีกว่าเดิม!?

ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นท็อปปิกระดับชาติที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้ กับการตั้งคำถามของสังคมที่ว่า การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ไทยในยุค 4.0จะทำให้เกิดรูปธรรมและสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการได้จริง หรือจะยิ่งทำให้การเดินทางของคนกรุงวุ่นวาย-อลหม่านมากไปกว่าเดิม!

ล่าสุด “พิชิต อัคราทิตย์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จะเปิดเส้นทางเดินรถนำร่องจำนวน 8 เส้นทางก่อน เพื่อทดลองและสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในเบื้องต้น โดยการปรับเปลี่ยนชื่อสายรถเมล์ให้มีพยัญชนะภาษาอังกฤษบอกถึงโซน-สี ซึ่งหากทดลองแล้วพบว่ายังเกิดความสับสนแก่ผู้ใช้บริการก็สามารถยกเลิก-ปรับเปลี่ยนได้ทันที




“เบื้องต้นเส้นทางรถเมล์ตามแผนปฎิรูป มี 269 เส้นทาง ซึ่งทางกรมขนส่งทางบก และ TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาฯ) ได้ปรับเส้นทางรถเมล์ให้เป็นระบบฟีดเดอร์มากขึ้น และในอนาคตจะสามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางได้อีกตามการขยายตัวของเมือง

โดยได้ให้กรมขนส่งทางบก พิจารณา 2 ปัจจัยประกอบในการกำหนดเส้นทางเดินรถด้วย คือ ที่ตั้งสถานีรถไฟฟ้า และการขยายตัวของเมือง เพื่อออกแบบเส้นทางเดินรถให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด”

เช่นเดียวกับทางด้าน “รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี” ผู้อำนวยการ ศูนย์ Smart Cities Research Center (SCRC)สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้อธิบายถึงการปฏิรูปรถเมล์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Agachai Sumalee” โดยให้ความเห็นไว้ว่า





“การปรับเปลี่ยนเส้นทางบางส่วนให้สอดคล้องกับเส้นทางรถไฟฟ้า จะเป็นการลดระยะทางของสายทางที่ยาวเกินไป เพื่อเพิ่มความแน่นอนในการให้บริการ ปรับปรุงเส้นทางจากข้อมูลการเดินทางของประชาชน โดยการปรับเปลี่ยนเส้นทางอ้างอิงจากโครงสร้างเส้นทางเดิม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนในระยะแรก

แต่เส้นทางสามารถปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างรถไฟฟ้า และการปรับเปลี่ยนของเมือง ซึ่งการปรับปรุงระบบหมายเลขรถดังกล่าว มีเหตุผลเพื่อลดการซ้ำกันของเลขรถในช่วงการเปลี่ยนถ่ายเส้นทางจากระบบเก่าไประบบใหม่นั่นเอง”

คงต้องรอดูกันต่อไปว่าการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ ทั้งหมด 269 เส้นทางที่ว่ามานี้ จะสร้างความศิวิไลซ์ให้ระบบรถเมล์ไทยได้จริง หรือจะสร้างความวุ่นวายให้ผู้ใช้บริการในอนาคตอันใกล้นี้กันแน่

แต่ที่แน่ๆ สายด่วน1348 (สอบถามเส้นทางรถประจำทาง) เตรียมยกหูรับสายประชาชนเอาไว้ได้เลย!

ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพประกอบ FB : รถเมล์ไทย.คอม
...