วันอาทิตย์, สิงหาคม 20, 2560

ควรภูมิใจมั้ย ไทยกำลังจะทำสถิติใหม่ด้วยการฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับเด็กอายุ 14 ปี และผู้ต้องหารายอื่นอีกอีก 8 คน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอายุ 18-20 ปี คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ





ควรภูมิใจมั้ย ไทยกำลังทำจะสถิติใหม่ด้วยการฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับเด็กอายุ 14 ปี และผู้ต้องหารายอื่นอีกอีก 8 คน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอายุ 18-20 ปี คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ อ.บ้านไผ่ และ อ.ชนบท ขอนแก่น ยังไม่รวมคดีอาญาร้ายแรงอื่น ๆ ที่จะฟ้องต่อบุคคลเหล่านี้ ในขณะที่ผู้บงการ ตำรวจยังจับตัวไม่ได้

รอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลทหารขยันฟ้องคดีหมิ่นฯ มาก และกฎหมายหมิ่นฯ ของไทย ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานสื่อสารมวลชน รวมทั้งรอยเตอร์เอง ในแง่การรายงานข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของไทย “Lese-majeste laws have an impact on what any news organization, including Reuters, can report about issues relating to Thailand's monarchy.“


ถ้ามันดี ทำไมประเทศอื่นเขาไม่ทำกันล่ะ เคยถามตัวเองมั้ย?

https://www.reuters.com/…/us-thailand-king-insults-idUSKCN1…

ภาษาไทย http://www.tlhr2014.com/th/?p=4913

 Pipob Udomittipongoooคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ: ควบคุมตัวเด็ก 14 ในค่ายทหาร และการควบคุมตัวมิชอบที่เกิดขึ้นซ้ำซาก
Pipob Udomittipong


ooo


คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ: ควบคุมตัวเด็ก 14 ในค่ายทหาร และการควบคุมตัวมิชอบที่เกิดขึ้นซ้ำซาก



21/06/2017
By TLHR


กรณีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดขอนแก่นเริ่มปรากฏเป็นข่าวเมื่อสื่อมวลชนรายงานเมื่อวันที่ 19 พ.ค.60 ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่า ก่อเหตุเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในอำเภอบ้านไผ่ และอำเภอชนบท ได้ 4 ราย จากผู้ต้องสงสัยทั้งหมด 6 ราย โดยหนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวเป็นเด็กอายุ 14 ปี ตามรายงานข่าวระบุว่า ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปสอบสวนที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ กรุงเทพมหานคร

ข่าวนี้สร้างความกังวลใจให้กับผู้ที่รับรู้ เนื่องจากมีการควบคุมตัวเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าค่ายทหาร ซึ่งนับเป็นกรณีแรก ที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาล คสช. ทหารอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่า กระทําความผิดที่อาจกระทบต่อความมั่นคงไว้ในค่ายทหาร เป็นระยะเวลา ไม่เกิน 7 วัน โดยผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารถติดต่อญาติ หรือทนายความ และส่วนใหญ่ไม่แจ้งหรือเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว อันเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ซึ่งขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อย่างไรก็ตาม เท่าที่มีข้อมูลยังไม่เคยมีการควบคุมตัวเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี หรือแม้แต่เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มาก่อน

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับการแจ้งเหตุว่า ภรรยานายปรีชา ผู้ต้องสงสัยจ้างวานเด็กและวัยรุ่นให้ก่อเหตุก็ถูกควบคุมตัวเข้าค่ายทหารในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทั้งยังมีการเรียกบุคคลบางคนที่ติดต่อสัมพันธ์ทางธุรกิจกับครอบครัวนายปรีชาไปสอบในค่ายทหารอีกด้วย

ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 60 พล.ต.ต.ธนาศักดิ์ ฤทธิเดชไพบูลย์ รอง ผบช.ภ.4 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจและดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยจับกุมผู้ก่อเหตุได้แล้วทั้งหมด 9 คน ซึ่งรับจ้างลงมือวางเพลิงเท่านั้น ขณะนี้ได้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดแล้ว ตั้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันวางเพลิงและร่วมกันเป็นอั้งยี่ มั่วสุมและซ่องโจร ส่วนผู้จ้างวาน 2 คน ซึ่งถูกออกหมายจับแล้ว ยังคงหลบหนี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามสถานการณ์ในคดีนี้ พบว่า โดยภาพรวมผู้ต้องหาและผู้ที่เกี่ยวข้องถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมตาม ICCPR ซึ่งรัฐมีหน้าที่ไม่ละเมิดและต้องประกันสิทธิเสรีภาพดังกล่าว ทั้งนี้ ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้ให้คำแนะนำแก่ประเทศไทย ให้ปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้สอดคล้องกับ ICCPR ซึ่งรวมถึงการรับประกันการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมด้วย






ภาพการแถลงข่าวการจับกุมของตำรวจ (ภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์)


ลำดับเหตุการณ์จับกุม/ควบคุมตัวผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

17 พ.ค.60 เช้าตรู่ เจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 50 นาย นำโดย พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี ผู้บังคับการกองร้อยรักษาความสงบ

กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น เข้าตรวจค้นบ้านของนายปรีชา และโรงงานผลิตยาสมุนไพร โดยอ้าง ม.44 แต่ไม่ได้แจ้งสาเหตุที่เข้าตรวจค้น ขณะนั้นมีเพียงภรรยา และลูกชายของนายปรีชาอยู่ที่บ้าน หลังการตรวจค้นราว 3 ชม. ทหารได้ยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง และเอกสารจำนวนหนึ่งไป พร้อมทั้งควบคุมตัวภรรยาของปรีชา แจ้งว่า จะพาตัวไปสอบ 2-3 วัน โดยไม่แจ้งสถานที่

ช่วงบ่าย ทหารและตำรวจเข้าจับกุมตัวเด็กและวัยรุ่นในตำบลบ้านแท่น อ.ชนบท รวม 7 คน โดย 3 คน เจ้าหน้าที่ยกกำลังไปควบคุมตัวมาจากสถานศึกษานำตัวไป สภ.ชนบท โดยที่ญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยม/จัดส่งอาหาร หรืออยู่ร่วมขณะสอบปากคำ ต่อมา เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมชายวัย 25 และ 50 ปี จากอำเภอโนนศิลา มาที่ สภ.ชนบท อีก จากนั้น ทั้งหมดถูกส่งตัวไป มทบ.23 ในตอนกลางดึก พร้อมภรรยาของปรีชาที่ถูกควบคุมตัวมาจาก มทบ. 23 ในช่วงค่ำเพื่อมาสอบปากคำที่ สภ.ชนบท

18 พ.ค. 60 เด็ก-กลุ่มวัยรุ่น-ผู้ใหญ่ ที่ถูกจับกุม-ควบคุมตัว ถูกนำตัวขึ้นรถตู้ออกเดินทางจาก มทบ.23 โดยไม่แจ้งจุดหมายปลายทาง รถตู้วิ่งเข้ากรุงเทพฯ และนำบุคคลทั้งหมดไปส่งยังค่ายทหาร โดยมีการปิดตาช่วงก่อนที่รถผ่านเข้าค่าย ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็น มทบ. 11

ทั้งนี้ ตลอดช่วงเวลาที่ทั้งหมดถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหารทั้ง 2 แห่ง ญาติไม่สามารถติดต่อได้ หรือได้รับการแจ้งว่าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน ผู้ถูกควบคุมตัวก็ไม่รู้ว่าตนเองอยู่ที่ใด และไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับใครได้แม้แต่กับคนที่ถูกควบคุมตัวมาพร้อมกัน

20 พ.ค. 60 ศาลจังหวัดพลออกหมายจับที่ 49-54/2560 ให้จับกุมบุคคลอายุ 18-20 ปี รวม 6 คน ในข้อหา ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ อั้งยี่ และซ่องโจร

22 พ.ค. 60 ภรรยาของปรีชา พร้อมทั้งกลุ่มวัยรุ่นและเด็ก ถูกส่งตัวกลับมาที่ สภ.ชนบท ตำรวจทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นส่งตัวเด็กไปฝากขังที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ก่อนศาลอนุญาตให้ควบคุมตัวที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น ขณะที่วัยรุ่น 6 คน ถูกขังอยู่ สภ.ชนบท แต่ตำรวจยังไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยม

ส่วนภรรยาปรีชา หลังลงชื่อในบันทึกข้อตกลงเงื่อนไขในการปล่อยตัวของทหาร ก็ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน โดยตำรวจไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา

23 พ.ค.60 ตำรวจนำผู้ต้องหาวัยรุ่น 6 คน ไปฝากขังระหว่างสอบสวนที่ศาลจังหวัดพล โดยไม่ให้ญาติติดตามไปด้วย ก่อนที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังครั้งแรก มีกำหนด 12 วัน และเจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้งหกคนไปขังที่เรือนจำอำเภอพล จ.ขอนแก่น

24 พ.ค.60 ตำรวจยื่นคำร้องขอฝากขังในระหว่างสอบสวน นายฉัตรชัย และนายหนูพิน ต่อศาลจังหวัดพล จากนั้น
เจ้าหน้าที่นำตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปขังที่เรือนจำอำเภอพลเช่นเดียวกัน




ภาพจาก เว็บไซต์เรือนจำอำเภอพล


จับกุม-ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยพลการ ปฏิเสธสิทธิในกระบวนการยุติธรรม


ขั้นตอนการเข้าจับกุมตัวจนถึงดำเนินคดีผู้ต้องหาในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจใช้อำนาจตามอำเภอใจ ควบคุมตัวโดยพลการในค่ายทหาร และดำเนินคดีโดยไม่คำนึงถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นที่ผู้ถูกจับกุมและผู้ต้องหาทุกคนต้องเข้าถึง เพื่อเป็นหลักประกันว่า บุคคลเหล่านั้นจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

  • ตำรวจใช้อำนาจร่วมกับทหารเข้าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย โดยไม่ใช้ขั้นตอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) ซึ่งต้องมีหมายจับหากไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า และไม่ใช่อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 หรือ 13/2559 ซึ่งให้อำนาจทหารในการจับกุมบุคคลซึ่งกระทำความผิดซึ่งหน้า (ในบางฐานความผิด) หรือเรียกบุคคลซึ่งต้องสงสัยว่ากระทำความผิดมาสอบถามข้อมูล
  • มีการนำตัวผู้ถูกจับกุมไปสอบที่สถานีตำรวจ โดยไม่เปิดโอกาสให้ญาติได้เยี่ยม และแน่นอนว่า ไม่มีการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุมตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 7/1 อันได้แก่ สิทธิในการปรึกษาทนายความ สิทธิในการติดต่อญาติ เสมือนบุคคลเหล่านั้น ยังไม่ได้เป็นผู้ถูกจับกุมตาม ป.วิ.อาญา ก่อนจะส่งทั้งหมดไปควบคุมตัวในค่ายทหาร
  • ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในค่ายทหาร 2 แห่ง รวม 6 วัน อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 หรือ 13/2559 โดยผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับแจ้งว่า อยู่ที่ไหน ไม่สามารถติดต่อญาติ รวมทั้งญาติก็ไม่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ถึงสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งเสี่ยงต่อการที่ผู้ต้องสงสัยถูกซ้อมทรมาน หรือบังคับให้สูญหาย อย่างไรก็ตาม กรณีนี้แม้ยังไม่มีการร้องเรียนถึงการซ้อมทรมาน หรือข่มขู่ให้รับสารภาพ แต่การควบคุมตัวโดยผู้ต้องสงสัยถูกตัดขาดการติดต่อกับผู้อื่น แม้แต่กับผู้ที่ถูกควบคุมตัวมาพร้อมกัน ก็ถือเป็นการข่มขู่โดยสภาพ โดยการสอบสวนในค่ายทหารได้นำไปสู่การออกหมายจับในที่สุด
  • หลังจากทหารปล่อยตัวออกจากค่ายทหาร ได้ส่งตัวผู้ถูกจับกุมไปที่สถานีตำรวจ ตามหมายจับศาลจังหวัดพล ซึ่งอนุมัติหมายจับขณะผู้ต้องสงสัยถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ อั้งยี่ และซ่องโจร จำนวน 7 คน (วัยรุ่น 6 คน และเด็ก 1 คน) และข้อหา ร่วมกันตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น จำนวน 2 คน พร้อมทั้งสอบคำให้การ ซึ่งทั้งหมดให้การรับสารภาพ แต่กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นโดยปฏิเสธให้ผู้ต้องหาได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติ (ตั้งแต่ถูกควบคุมตัว) และให้ทนายความหรือผู้ซึ่งผู้ต้องหาไว้ใจเข้าฟังการสอบปากคำ ตาม ป.วิ.อาญา 134/4 ซึ่งบัญญัติไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ไม่ว่าเขาจะกระทำผิดจริงหรือไม่

การจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสอบสวนในค่ายทหารก่อนออกหมายจับ ไม่ได้เกิดกับกรณีนี้เป็นกรณีแรก ก่อนหน้านี้ มีกรณีการจับกุมผู้ต้องสงสัยวางระเบิดภาคใต้ 17 คน ก่อนออกหมายจับในคดีอั้งยี่ (ดูรายงานข่าวประชาไท และศูนย์ทนายฯ) หรือกรณีการควบคุมตัว 8 แอดมินเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” (ดูรายงานข่าวประชาไท) ล่าสุด กรณีควบคุมตัว “ลุงวัฒนา” ผู้ต้องสงสัยวางระเบิดที่ รพ.พระมงกุฎฯ เป็นต้น ซึ่งถือทหารว่าใช้อำนาจเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในชั้นต้น หรือในกรณีนี้ ตำรวจร่วมกับทหารดำเนินการนอกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกจับ ผู้ต้องหา และจำเลย

ใช้อำนาจตาม 3/58 กับเด็กอายุ 14 ปี

ดังที่กล่าวไปข้างต้น กรณีนี้นับเป็นกรณีแรกที่มีการควบคุมตัวเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าสอบสวนในค่ายทหาร โดยที่เด็กและเยาวชนเป็นวัยที่พึงได้รับการพัฒนาและปกป้องคุ้มครอง ในทางสากลจึงกำหนดความคุ้มครองเป็นพิเศษสำหรับบุคคลทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งนี้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) รับรองว่า “จะไม่มีเด็กคนใดถูกริดรอนเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยพลการ การจับกุมหรือคุมขังจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ใช้เป็นมาตรการสุดท้ายและในระยะเวลาที่สั้นที่สุด” “เด็กทุกคนที่ถูกริดรอนเสรีภาพจะมีสิทธิได้รับการเยี่ยมเยียน” และ “หากเด็กถูกตั้งข้อหาว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมายอาญา จะได้รับแจ้งข้อหาทันทีและโดยตรง และในกรณีที่เหมาะสมโดยผ่านบิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย และจะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายหรือทางอื่นที่เหมาะสม เพื่อการตระเตรียมและการสู้คดีของเด็ก”

แม้แต่กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ การดำเนินคดีบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี กำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งมาตรา 66 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้จับกุมเด็กซึ่งต้องหาว่ากระทําความผิด เว้นแต่เด็กนั้นได้กระทํา ความผิดซึ่งหน้า หรือมีหมายจับหรือคําสั่งของศาล” มาตรา 68 “เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชน ห้ามมิให้ควบคุม คุมขัง กักขัง คุมความประพฤติ หรือใช้มาตรการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการจํากัดสิทธิเสรีภาพของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทําความผิดหรือเป็นจําเลย เว้นแต่มีหมายหรือคําสั่งของศาล”

ดังนั้น การที่ทหารเข้าควบคุมตัวเด็กอายุ 14 ปี จากสถานศึกษา โดยไม่มีหมายจับ ควบคุมตัวในค่ายทหารเป็นเวลา 6 วัน โดยไม่รับการเยี่ยมเยียนจากญาติ เป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามกฎหมายพิเศษดำเนินการกับเด็กเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยไม่ได้คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเด็ก วิธีการที่ระมัดระวังไม่ให้กระทบกระเทือนต่อจิตใจ หรือมาตรการที่เหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ ในวันที่ 20 พ.ค.60 ขอให้ชี้แจงกรณีการควบคุมตัวเยาวชนอายุ 14 ปี และยุติการควบคุมตัวบุคคลภายในค่ายทหาร เช่นเดียวกับที่ Human Rights Watch เผยแพร่ถ้อยแถลงของ แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ที่เรียกร้องให้ “รัฐบาลไทยควรทำให้เราคลายความกังวลที่จริงจังต่อความปลอดภัยของเด็กชาย… โดยให้ปล่อยตัวเขาไปพบกับครอบครัวโดยทันที ให้เขาสามารถเข้าถึงทนายความ และเอาตัวเขาออกจากที่คุมขังของทหาร”

นอกจากนี้ ในชั้นสอบสวนของตำรวจก็เป็นที่น่ากังวลว่า เด็กจะได้รับการประกันสิทธิขั้นต้นของผู้ต้องหาหรือไม่ ทั้งนี้ ตามวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (มาตรา 71 ประกอบ ป.วิ.อาญามาตรา 134) ระบุไว้ว่า การสอบสวนเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กไว้ใจ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวน ยกเว้นในกรณีเร่งด่วนอย่างยิ่ง ให้มีเพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่ร่วมก็ได้ รวมทั้งต้องให้ทนายความเข้าร่วมด้วย ยกเว้นในกรณีเร่งด่วนเช่นกัน ซึ่งเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าพนักงานสอบสวนจะอาศัยช่องที่กฎหมายยกเว้นไว้ดังกล่าว





ตั้งข้อหาหนัก อั้งยี่ และซ่องโจร – ไม่ได้ประกัน


พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบ้านไผ่แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาวัยรุ่น 6 คน โดยกล่าวหาว่า ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ อั้งยี่ และซ่องโจร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 209, 210, 217 และ 358 จากพฤติการณ์ก่อเหตุวางเพลิงที่ริมถนนแจ้งสนิท (บ้านไผ่-บรบือ) ขณะที่สถานีตำรวจภูธรชนบทก็ได้แจ้งข้อกล่าวหา วัยรุ่นกลุ่มเดียวกันนี้ 4 คน พร้อมทั้งเด็กอีก 1 คน ในข้อหาเดียวกันนี้ จากพฤติการณ์ก่อเหตุวางเพลิงในเขต อ.ชนบท 2 จุด ส่วนนายฉัตรชัย และนายหนูพิน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ร่วมกันตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น จากพฤติการณ์เตรียมก่อเหตุวางเพลิงในเขต อ.เปือยน้อย แต่เมื่อไปถึงแล้วเปลี่ยนใจไม่ลงมือ

แม่ของต้อม (นามสมมติ) หนึ่งในวัยรุ่นที่ตกเป็นผู้ต้องหาระบายความในใจว่า “ตำรวจเขียนสำนวนมากเกินไป อั้งยี่ ซ่องโจรนั่นน่ะ แม่คิดว่าไม่เป็นธรรม อยากให้แก้สำนวน เด็กมันแค่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้เป็นแก๊งอั้งยี่ หรืออันธพาล ที่เขาทำเพราะคนที่จ้างก็รู้จักกัน ปกติเขาก็รับจ้างซ่อมรถ หาเงินช่วยแม่ เพราะอยู่กับแม่แค่ 2 คน พ่อตายตั้งแต่เขาอยู่ ป.5 ส่วนแม่ก็ทำนา กับรับจ้าง เลี้ยงลูกมาจนจบ ปวช.”

เช่นเดียวกับแม่ของฟิลม์ (นามสมมติ) ที่เห็นว่าตำรวจแจ้งข้อหาหนักไป “เด็กพวกนี้ไม่ใช่เด็กดื้อจนเอาไม่อยู่ เขาแค่อยากได้ตังค์ ได้ค่าจ้างแค่ 200 บาท ลูกแม่ไม่เคยคุยกับปรีชาเลย รู้ว่าเขาเป็นเจ้าของโรงงาน แต่ไม่เคยคุยกัน ข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร เด็กยังไม่รู้เลยว่าอะไร ยังไม่เข้าใจ แม่เองก็ไม่เข้าใจ เคยได้ยินแต่ในหนัง ถ้าอั้งยี่หมายถึงต้องเป็นแก๊งที่ตั้งมาเพื่อทำผิดกฎหมาย พวกเขาไม่ใช่ ปรีชาแค่มาจ้างไปทำเฉยๆ”

ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ในมาตรา 209 ระบุว่า “ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดําเนินการและมีความมุ่งหมาย เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทําความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสน 4 หมื่นบาท”

ส่วนความผิดฐานเป็นซ่องโจรในมาตรา 210 ระบุว่า “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 (ของประมวลกฎหมายอาญา) และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทําความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าเป็นการสมคบเพื่อกระทําความผิด ที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 4 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท”

หากพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมาย และรายงานข่าวตามที่รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 แถลง ซึ่งระบุว่า “จากการสอบสวนพบว่าผู้ต้องหาทั้งหมดมีหน้าที่รับจ้างในการลงมือวางเพลิงเท่านั้น” อาจกล่าวได้ว่า พฤติการณ์ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นและเด็กถูกกล่าวหาว่าลงมือก่อเหตุวางเพลิงนั้นไม่ได้ถึงขั้นเป็นสมาชิกของคณะบุคคลหรือขบวนการผิดกฎหมาย ดังนั้นการออกหมายจับและตั้งข้อหาในคดีอั้งยี่จึงอาจเป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่เกินกว่าพฤติการณ์ในคดีที่เกิดขึ้นจริง

แม้ว่า รอง ผบ.ช.ภ. 4 จะออกมาแถลงปฏิเสธว่า คดีนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง เป็นการวางเพลิงธรรมดา โดยเชื่อว่าสาเหตุที่ลงมือทำนั้นน่าจะเกิดจากปมขัดแย้งเรื่องส่วนตัวและผลประโยชน์ในพื้นที่ แต่ทว่าขัดแย้งกับพฤติการณ์ของทหารที่เข้ามาแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรมโดยการจับกุมผู้ต้องสงสัยไปควบคุมตัวในค่ายทหารก่อนออกหมายจับ ตลอดจนการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งระบุว่า ผู้ก่อเหตุวางเพลิงครั้งนี้ มีผู้จ้างวานอยู่เบื้องหลัง และผู้จ้างวานอาจเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่นอกประเทศ ซึ่งเป็นไปได้ว่าการตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าว มาจากเหตุที่เจ้าหน้าที่พยายามเชื่อมโยงถึงฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง

ทั้งนี้ หลังรัฐประหาร ปรากฏการดำเนินคดีฝ่ายที่เห็นต่างด้วยข้อหาเป็นอั้งยี่ และเป็นซ่องโจร ในหลายคดี เช่น คดีขอนแก่นโมเดล ซึ่งจำเลยทั้ง 26 คน ส่วนใหญ่ถูกจับกุมหลังรัฐประหารเพียง 1 วัน โดยถูกกล่าวหาว่า สมคบกันวางแผนเตรียมการต่อต้านรัฐประหาร (ข้อหาก่อการร้าย เป็นซ่องโจร และอื่นๆ) ในปัจจุบันคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มทบ.23 โดยจำเลยได้รับการประกันตัว, คดี 17 แกนนำคนเสื้อแดง ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันจัดตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ข้อหาเป็นอั้งยี่ และฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.) ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา อัยการฝ่ายศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง, คดีที่นักศึกษาอายุ 19 ปีถูกกล่าวหาว่าเป็นแฮกเกอร์โจมตีเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง (ข้อหาเป็นอั้งยี่ และอื่นๆ) ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอาญา โดยจำเลยได้รับการประกันตัวหลังถูกขังเกือบ 1 เดือน

ผลประการแรกในทันทีของข้อหาที่หนักก็คือ ผู้ต้องหาหรือจำเลยมักไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวโดยง่าย เช่นเดียวกับในคดีนี้ วันที่ 25 พ.ค.60 ญาติผู้ต้องหา 4 คน ยื่นประกันโดยวางหลักทรัพย์คนละ 1 และ 2 แสนบาท ศาลจังหวัดพลมีคำสั่งไม่ให้ประกัน เนื่องจากพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว ประกอบกับคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี ทำให้ปัจจุบันผู้ต้องหาทั้งหมดถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำอำเภอพล และสถานพินิจฯ จ.ขอนแก่น ทั้งที่ 3 คน อยู่ในระหว่างศึกษา

ควบคุมตัวภรรยาผู้ต้องสงสัยในค่ายทหารโดยมิชอบ


กรณีการควบคุมตัวภรรยาของปรีชา ผู้ต้องสงสัยจ้างวานให้กลุ่มวัยรุ่นก่อเหตุวางเพลิงฯ ไปสอบในค่ายทหารเป็นเวลา 6 วันนั้น ลงท้ายด้วยการปล่อยตัวโดยไม่มีการดำเนินคดี หากแต่เจ้าหน้าที่โดย พ.ท.พิทักษ์พล ให้ลงชื่อในเงื่อนไขการปล่อยตัว ซึ่งระบุว่า จะให้ความร่วมมือกับทางราชการ, ไม่กระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และประกาศ/คำสั่ง คสช./หัวหน้า คสช., ไม่ดำเนินกิจกรรมหรือยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มการเมือง, เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ ในเงื่อนไขการปล่อยตัวดังกล่าว ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารในฐานะเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย จ.ขอนแก่น ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557, คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 3, 4 และ 6 เชิญตัวมาให้ถ้อยคำอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการกับบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิด แต่เนื่องจากสอบถามยังไม่แล้วเสร็จจึงได้ควบคุมตัวไว้ที่ มทบ.23

แต่หากเปิดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 จะพบในข้อ 6 ระบุว่า “ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด (ตามข้อ 3) ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูล หรือให้ถ้อยคําอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการตามข้อ 3 และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จ จะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 7 วัน” นั่นคือ คำสั่ง 3/2558 ให้อำนาจทหารเรียกผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิด (ใน 4 ฐานความผิด) มาสอบและควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่ไม่ได้ให้อำนาจไปควบคุมตัวครอบครัวของผู้ต้องสงสัย หรือบุคคลใดก็ได้มาสอบในค่ายทหาร

กรณีนี้เจ้าหน้าที่ทหารจึงปฏิบัติการเกินเลยจากที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ให้อำนาจไว้ ถือเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างน่าหวั่นวิตก

ก่อนหน้านี้ กรณีการใช้อำนาจเข้าควบคุมตัวครอบครัวของบุคคลเป้าหมายที่เห็นต่างจาก คสช. หรือผู้ต้องสงสัย โดยมิชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกันนี้ มีปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนหลายราย ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมรายงานไว้ โดยพบว่า ส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อข่มขู่บังคับให้บุคคลเป้าหมายเข้ามารายงานตัว หรือเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัย รวมถึงเป็นการใช้ความปลอดภัยของครอบครัวเป็นเครื่องมือในการข่มขู่ให้ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ