วันอังคาร, มิถุนายน 13, 2560

พลิกกำไรเป็นขาดทุน 2 ปีติด... รัฐวิสาหกิจใต้บัญชาทหาร : รฟม.ตีคู่ ทีโอที เปลี่ยนกำไรเป็นขาดทุน




รายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่มีประธานบอร์ดเป็นนายทหาร ขาดทุนสุทธิ 1.78 พันล้านบาท ในปี 2559
ผู้สื่อข่าวอิสระ BBC Thai

หลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลของการให้ ทหารเข้าเป็นกรรมการ หรือ ประธานในคณะกรรมการ(บอร์ด) รัฐวิสาหกิจหลายแห่งว่า "เพื่อแก้ปัญหา" ของหน่วยงานเหล่านั้น บีบีซีไทยพบผลประกอบการของ 2 ใน 6 รัฐวิสาหกิจที่มีทหารเป็นประธานบอร์ดช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ขาดทุนมหาศาล อีก 4 แห่งมีกำไรดีขึ้น

รายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ดูแลกิจการรถไฟฟ้าทั้งใน กทม.และปริมณฑล ลดลง 40% ในรอบ 2 ปี จาก 7.44 พันล้านบาท ในปี 2557 เป็น 4.46 พันล้านบาท ในปี 2559 ทำให้ผลประกอบการ

เปลี่ยนจาก กำไรสุทธิ เกือบ 3.47 พันล้านบาท ในปี 2557 มาเป็นขาดทุนสุทธิ 1.78 พันล้านบาท ในปี 2559

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ พล.อ.ยอดยุทธ ผู้ได้รับรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถึงการบริหารงานใน รฟม. แต่ได้รับการปฏิเสธ โดย พล.อ.ยอดยุทธระบุว่า "ไม่สะดวกจะพูดในเรื่องนี้ ให้ไปสอบถามจากผู้ว่าการ รฟม.น่าจะดีกว่า"

ทั้งนี้ ในรายงานประจำปีของ รฟม. ประจำปี 2559 ระบุว่า เหตุที่ขาดทุนกว่าพันล้านบาทเนื่องมาจาก อัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาก โดยมีการเปรียบเทียบกับค่าเงินเยน จากเดิม 1 บาท เท่ากับ 0.29 เยน มาเป็น 1 บาท เท่ากับ 0.34 เยน





ในส่วนของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันมี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ เป็นประธานบอร์ด รายได้ขององค์กรในปี 2558 ลดลง ¼ จากปี 2557 เหลือ 4.78 หมื่นล้านบาท ทำให้ผลประกอบการเปลี่ยนจากกำไรสุทธิ 1.94 พันล้านบาท ในปี 2557 เป็นขาดทุนสุทธิ 5.88 พันล้านบาท ในปี 2558



AFP/GETTY IMAGES
สามปีหลังรัฐประหาร ท่ามกลางสัญญาปฏิรูป จำนวนทหารนั่งเป็นประธานในคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5 เท่า เป็น 16 แห่ง


นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การให้ทหารเข้ามาเป็นประธานบอร์ดเป็นปัญหามาก เพราะธรรมชาติของทหารไม่ค่อยเปิดรับฟังความเห็นต่าง และการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจควรมีเป้าหมายให้สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ แต่ทหารไม่ค่อยมี "เซ็นส์" ในทางธุรกิจ ทำให้การทำงานเกิดปัญหา

นายพงศ์ฐิติยกตัวอย่างการทำงานของทีโอที ซึ่งนับแต่ทหารเข้ามาเป็นประธานบอร์ดก็ขาดการกำหนดยุทธศาสตร์ที่แน่ชัดว่าจะเดินอย่างไรต่อไป ในขณะที่คู่แข่งในตลาดปรับตัวจนสามารถแย่งลูกค้าจากทีโอทีไปได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจบรอดแบนด์ "แต่เราไมได้ทำอะไรเลยจริงๆ"

ประธานสหภาพทีโอที ยังระบุว่า ภายหลัง พล.อ.สุรพงษ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพไทย ยิ่งไม่ค่อยมีเวลาดูแลกิจการของทีโอที ปล่อยให้บอร์ดไม่กี่คนดูแลแทน ขณะที่ปัญหาเรื่องเส้นสายก็ยังมีอยู่ เห็นได้จากการแต่งตั้งบุคคลนามสกุลเดียวกับผู้มีอำนาจมาเป็นผู้บริหาร ทั้งที่คุณสมบัติไม่น่าจะเพียงพอ



WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ เป็นประธานบอร์ด


พล.อ.สุรพงษ์ กล่าวชี้แจงกับบีบีซีไทยว่า กว่า 3 ปีที่ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดทีโอที ได้แก้ไขปัญหาจนลุล่วงไปเกือบทุกอย่างแล้ว ที่สหภาพฯ ระบุว่าตนอาจทำงานไม่เต็มที่ เพราะทำงานหลายตำแหน่งนั้น ยืนยันว่าที่ผ่านมาเข้าประชุมบอร์ดครบทุกครั้ง ส่วนคำถามเรื่องยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ไขปัญหาทีโอที เขาจะให้ทีมงานรวบรวมข้อมูลก่อนส่งให้บีบีซีไทยอีกครั้งในสัปดาห์นี้ (เริ่มจันทร์ที่ 12 มิ.ย)

กำไรดี มีให้เห็น

แม้นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน รัฐวิสาหกิจขนาดกลางหลายที่ซึ่งมีนายพลเป็นประธานบอร์ดก็มีกำไรที่เติบโต และผู้บริหารเหล่านั้นต่างพึงพอใจผลงานของตัวเอง เพราะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตามเป้า

"ผมพอใจอย่างที่สุด ที่สามารถแก้ปัญหาขายสลากเกินราคาได้" พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวอย่างภูมิใจกับผลงาน เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับแต่งตั้งเข้ามา เพราะ คสช.มีนโยบายแก้ปัญหาสลากเกินราคา จากเดิมที่พิมพ์เพียง 37 ล้านคู่ฉบับ ก็พิมพ์เพิ่มเป็น 50 ล้านคู่ฉบับ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการกับประชาชน และให้สามารถวางขายได้ในราคาคู่ละ 80 บาท



AFP/GETTY IMAGES


พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เขียนไว้ในรายงานประจำปีของ กทพ. ของปีล่าสุดว่า เป้าหมายในการเข้ามาทำงานคือเร่งรัดพัฒนาทางพิเศษทุกสายทางให้สามารถเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าประสบความ "สำเร็จ" ตามนโยบายของรัฐบาล เพราะสามารถเปิดให้บริการทางด่วนพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กทม. เพื่อขยายโครงข่ายทางพิเศษใน กทม. และปริมณฑล

กว่าครึ่งนั่งควบหลายเก้าอี้

สำหรับข้อครหาเรื่องความเหมาะสม พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. เคยกล่าวกับบีบีซีไทยว่า อย่าไปดูแค่จำนวนทหารที่นั่งอยู่ในบอร์ด แต่อยากให้ดูถึงการศึกษาและประสบการณ์ด้วย โดยยกตัวอย่าง พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานบอร์ด กทพ. ที่จบวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และเคยเป็นทหารช่างมาก่อน

จากการตรวจสอบประวัติของประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่เป็นทหาร 16 แห่ง จำนวน 15 คน (เนื่องจาก พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธานบอร์ด 2 แห่ง คือ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และการยางแห่งประเทศไทย) มีถึง 13 คน ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยของกองทัพไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ หรือโรงเรียนนายเรืออากาศ โดยส่วนใหญ่เลือกศึกษาในสาขา "วิทยาศาสตร์" มีเพียง 4 คนที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี และมีเพียง 4 คน ที่เคยศึกษาในต่างประเทศ




นอกจากนี้ ยังมีทหารถึง 9 คนที่ไม่ได้นั่งอยู่ในฐานะประธานบอร์ดเพียงอย่างเดียว แต่ยังนั่ง "ควบ" หลายเก้าอี้ ทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 7 คน และยังรับราชการอยู่อีก 4 คน

โดย พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข อดีตเสนาธิการทหารบก เป็นบุคคลที่นั่งควบมากที่สุดถึง "4 เก้าอี้" นอกจากเป็นประธานบอร์ด อสมท และการยางแห่งประเทศไทย ยังเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ อีก 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) และเป็นสมาชิก สนช.





ส่วนคนที่ควบ "3 เก้าอี้" มี 2 คน คือ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่เป็นประธานบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และเป็นสมาชิก สนช. กับ พล.อ.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารบก ที่เป็นประธานบอร์ดบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด และเป็นสมาชิก สนช. ส่วนที่ควบ "2 ตำแหน่ง" มีอยู่ 4 คน

เปิดเกณฑ์คัดคนนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจใน กม.ฉบับปฏิรูป

สำหรับความคืบหน้าในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... เพื่อปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไปเมื่อปลายปี 2559 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาโดยกฤษฎีกา ก่อนส่งให้ สนช. เห็นชอบออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมาย ได้กำหนดแนวทางในการคัดเลือก "บุคคลที่มีความเหมาะสม" เข้ามาเป็นบอร์ด ไว้ใน 2 มาตรา

โดยมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ระบุว่า การสรรหาบุคคลเข้ามาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ นอกจากจะเสนอรายชื่อเป็นสองเท่าของจำนวนให้ผู้มีอำนาจเลือก ยังจะต้องเลือกจากบุคคลที่ "มีความสามารถสอดคล้องกับสมรรถนะหลัก"

และมาตรา 26 วรรคสาม ได้ระบุถึงคุณสมบัติ 3 ข้อของบุคคลที่จะมาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย
มีคุณสมบัติและไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด
มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับกิจการ ความต้องการ และเป้าหมายในการพัฒนารัฐวิสาหกิจนั้น
สามารถปฏิบัติงานให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

น่าสนใจว่า หากร่าง พ.ร.บ.นี้ออกมาใช้บังคับจริง บรรดาทหารที่นั่งอยู่ในบอร์ด โดยเฉพาะประธานบอร์ดทั้งหมด จะผ่านเกณฑ์เรื่องความ "เหมาะสมกับกิจการ ความต้องการ และเป้าหมาย ในการพัฒนารัฐวิสาหกิจนั้น" รวมถึงหลายคนที่นั่งควบอยู่หลายตำแหน่ง จะผ่านเกณฑ์เรื่อง "สามารถปฏิบัติงานให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง" ได้หรือไม่

การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจภายใต้ คสช. ยังเป็นเส้นทางอีกยาวไกล ที่ต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง