วันจันทร์, สิงหาคม 22, 2559

บรรยากาศแห่งอำนาจเบ็ดเสร็จครองเมือง เข้มข้นขึ้นทุกวัน





ใครๆ เขาได้วันหยุดสุดสัปดาห์กัน รวมทั้งผู้พิพากษาศาลทหาร ทำให้ ‘มะ’ ของ ‘นาดา’ แม่ค้าน้ำพริกแกงย่านศรีนครินทร์ มารดาเด็กหญิงวัย ๑๒ ขวบ ต้องนอนคุกต่ออีกอย่างน้อยสามคืน

เมื่อไม่สามารถยื่นประกันตัวได้ หลังจากถูกทหารนำตัวไปควบคุมไว้ในค่ายแล้วหนึ่งอาทิตย์ ฐานที่ติดกลุ่ม ๑๗ พวกข้อหาอั้งยี่ร่วมกับเสื้อแดงสูงวัย อดีต นปช. ที่แยกตัวออกมาตั้งพรรคใหม่สายปฏิวัติแนวสุรชัย แซ่ด่าน

มีนา แสงศรี มารดาวัย ๓๙ ปีจึงต้องเขียนจดหมายถึงลูกน้อย “ตั้งใจเรียนนะ เชื่อฟังโต๊ะแชลูเวาะ ต่อไปนี้ลูคงต้องดูแลนาดาแทนมะ...





เราไม่ได้จากกันไปไหน แค่เราอยู่กันคนละบ้าน นาดาทำหน้าที่ของนาดา มะทำหน้าที่ของมะปล่อยให้มะไปหาประสบการณ์ ไม่ต้องห่วงนะ”

และ “แต่มะก็ภูมิใจในตัวนาดามาตลอด รักลูกที่ฉูดดดด อยากให้นาดาภูมิใจในตัวเอง มั่นใจในตัวเอง Strong Strong”

(http://prachatai.org/journal/2016/08/67531)

นั่นเป็นอีกสตรีผู้เป็นแม่ที่ต้องเผชิญกับการใช้อำนาจของทหารผู้ปกครองประเทศในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมตามครรลองประชาธิปไตย ดังที่ Atukkit Sawangsuk สะท้อนภาพการกดขี่บีบคั้นเอาไว้ว่า

“เธอถูกจับเช้าวันรุ่งขึ้นจากวันแม่ ด้วยอำนาจเหวี่ยงแห ใส่สีตีข่าว หาว่าเกียวข้องกับเหตุระเบิด ถูกกักขังรีดเค้นในค่ายทหาร ๗ วัน เอาผิดอะไรไม่ได้ก็ตั้งข้อหาอั้งยี่ซ่องโจรแก้เกี้ยว...

วันนี้เราเห็นแม่ที่เข้มแข็ง ของประชาธิปไตย ทั้งมีนา ทั้งแม่ไผ่ ในความอำมหิตขลาดเขลาของเผด็จการ”

คดีนั้นก็วันเดียวกันกับที่ไผ่และเพื่อนโดนยัดคุก ข้อหารณรงค์ไม่รับร่าง รธน. ซึ่งสำนักข้าหลวงใหญ่ สหประชาชาติ เตือนอีกครั้ง ว่า





“เราเป็นห่วงมากที่ยังมีการสกัดกั้นไม่ให้มีพื้นที่ประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย และเรียกร้องให้กลับสู่กระบวนการปกครองของพลเรือนอย่างเหมาะสม

นับแต่รัฐประหาร ๒๕๕๗ เป็นต้นมามีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น และในการชุมนุม ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอาญาและคำสั่งทางทหาร จนกระทั่งมาถึงการออกเสียงประชามติในเดือนนี้ มาตรการเหล่านั้นมีแต่เพิ่มขึ้น

โดยรวมแล้วมี่ประชาชนกว่า ๓,๐๐๐ คนถูกคำสั่งเรียกตัว จับกุม และดำเนินคดี พลเรือนราว ๑,๖๒๙ คน ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

ตั้งแต่เดือนมิถุนายนมา มีคนถูกจับหรือฟ้องร้องด้วยคำสั่งคณะรัฐประหาร กฎหมายอาญา และ พรบ.ประชามติ ราว ๑๑๕ ราย จากการที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ หรือมีรายงานว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และถูกทรมาน...

เราขอกระตุ้นให้ประเทศไทยยกฟ้องต่อนักกิจกรรมการเมือง ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และปลดปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังจากการแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ...

เรายังเรียกร้องให้ทางการยุติการใช้ศาลทหาร และคำสั่ง คสช. ในคดีที่พลเรือนตกเป็นจำเลย มาตรการเหล่านี้จำเป็นสำหรับประเทศไทยจะก้าวต่อไปข้างหน้า จนถึงวันเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๖๐

ซึ่งรัฐบาลทหารอ้างไว้ว่าอยู่ในโร้ดแม็พ เพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมา”

(https://www.facebook.com/UNHumanRightsAsia/photos/a.657330534369993.1073741828.654755261294187/781917191911326/?type=3&theater)

โฆษก UNHR นางราวินา ชัมทาสานี กล่าวที่กรุงเจนีวา ตีความได้กับทุกกรณีที่ คสช. ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนส่วนบุคคล ใครก็ตามที่ไม่เห็นชอบ ไม่ยอมรับอำนาจทหารของ คสช.





โดยเลือกใช้กฎหมายอาญาร้ายแรงจับกุมควบคุมตัวเสียก่อน แล้วจึงค่อยแจ้งข้อหา ไม่ว่าจะเป็น ม.๑๑๖ ฐานบ่อนทำลายชาติ ม.๑๑๒ อ้างหมิ่นกษัตริย์ ไปถึงคำสั่งคณะรัฐประหาร คสช. ฉบับต่างๆ อาทิ ๓/๒๕๕๘

เป็นบรรยากาศแห่งอำนาจเบ็ดเสร็จครองเมืองอย่างเข้มข้นขึ้นทุกวัน น่าจะทำให้เสียงค้าน เสียงต้านมีจำนวนน้อยลงไปได้มาก ขณะที่เสียงยกยอปอปั้น และการกระทำเสริมอำนาจนั้นจากภาคเอกชน ที่ต้องการช่วงชิงการนำและผลประโยชน์ธุรกิจที่หวังว่าจะตามมา

ดังกรณีที่นายเทพชัย หย่อง ผู้บริหารเครือเนชั่นที่มีตำแหน่งเป็นถึงประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์ เขียนข้อความบนเฟชบุ๊ค กล่าวหาและโจมตีสำนักข่าวประชาไทว่ารับเงินจากมูลนิธิของนายจ๊อร์จ โซรอส กูรูนักเล่นหุ้นชาวอเมริกันผู้โด่งดังของโลก







เรื่องนี้คงไม่มีใครชี้ให้เห็นเจตนา “ตีไข่ใส่สี” ของนายเทพชัยได้ดีกว่า Pipob Udomittipong ที่เขียนไว้บนหน้าเฟชบุ๊คของเขา

“เทพชัย หย่อง อ้างอิงข่าวจาก The Nation แต่ ‘ตีไข่ใส่สี’ เข้าไป ซึ่งไม่มีในเนื้อหาข่าวภาษาอังกฤษ” เมื่อพาดพันถึง ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’

พิภพชี้ว่า “การพังทลายของระบบเศรษฐกิจต้องเกิดจากทั้ง currency, stock market และ banking crisis ปัญหาตอนนั้นเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลไทยเอาเงินไปแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อ ‘ตรึงราคา’ จนสู้ไม่ไหวจึงต้องลดค่าเงินเมื่อ ๒ ก.ค. ๑๙๙๗

คงมีแต่มหาวิทยาลัยเนชั่นที่สอนเด็กว่า จอร์จ โซรอสคนเดียวทำให้เศรษฐกิจไทยเจ๊งได้

เทพชัยกล่าวหาต่อโยงใยไปถึง ‘ข้างบน’ ตามพิมพ์นิยมของพวกชอบเก็บขยะว่า ‘สื่อเสื้อแดง’ จีรนุช (เปรมชัยพร บรรณาธิการประชาไท) ถูกศาลฏีกาตัดสินจำคุก (แต่ให้รอลงอาญา) เมื่อปลายปีที่แล้ว”

พิภพเจาะอีกว่า “มันเป็นปัญหาที่เรียกว่า ‘notice and take down’ ซึ่งกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ และยังเรื่อง ‘intermediary liability’ ความรับผิดของสื่อตัวกลาง ซึ่งนานาชาติเขารณรงค์ว่าไม่ควรมี เพื่อคุ้มครองเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร”

(https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10154443169511649&set=a.10150096728651649.281712.824066648&type=3&theater)





ข้อสำคัญวิธีการที่เทพชัยอ้างอิงข่าวเนชั่นซึ่ง “ต้นตอจากข่าว The Nation อ้างอิงสำนักข่าว ‘New Atlas’ ที่มีเจ้าหน้าที่แค่สามคน ใช้ชื่อจริงคนเดียว นามแฝงอีกสองคน Facebook มี 200 likes ส่วน twitter 216 followers (น้อยกว่าผมร้อยเท่า หูย...)”

นี่สิจ่อเจตนายิ่งกว่าใส่สีตีไข่ เนชั่นอยากได้ผู้อ่านของประชาไท ต้องทำตัวให้มีมาตรฐานงานสื่อมากกว่านี้ ไม่ใช่ cheap shot แบบที่เทพชัย หย่อง ทำ

ดูทีเนชั่นเข้าใกล้กระบอกเสียง คสช. สไตล์แท้ปลอยอย่าง ‘แนวหน้า’ เข้าไปทุกที แต่ยังเทียบไม่ติดเขาหรอก ขานั้นไม่ได้แค่นั่งเทียน แต่เขียนบทบรรณาธิการ ‘มุสา’ ก็เอา